24 มิถุนายน 2555

ฟาโรห์ 2012 ตัวจริงหรือแค่หุ่นเชิด


ฟาโรห์ 2012 ตัวจริงหรือแค่หุ่นเชิด ในอุ้งมือทหาร :เปิดโลกวันอาทิตย์ :โดย.ดลหมาน ณ ไคโร





               แทบไม่น่าเชื่อว่า ชีวิตของฮอสนี มูบารัก อดีตประธานาธิบดีผู้เคยยิ่งใหญ่ปกครองแดนสฟิงกซ์อียิปต์มาตลอด 30 ปีจะแขวนอยู่บนเส้นด้ายเพียงแค่ปีเดียวหลังจากถูกพลังประชาชนโค่นล้ม ตามด้วยการถูกศาลพิเศษตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ในข้อหาออกคำสั่งให้สังหารผู้ประท้วงระหว่างการชุมนุมใหญ่เมื่อต้นปีที่แล้ว

               เดิมทีอดีตผู้นำอย่างมูบารัก เป็นผู้มีศักยภาพในด้านการปกครอง การวางตัว และการสื่อสารกับผู้นำต่างประเทศได้อย่างสมศักดิ์ศรีของผู้นำระดับประเทศ แต่เป็นเพราะการทำงานจะต้องทำเป็นทีม ต้องมีพรรคมีพวก มีบริวาร อาจเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้อดีตผู้นำผู้นี้ไม่สามารถเข้าถึงชีวิตจริงของชาวรากหญ้าทั่วไปซึ่งมีหลายกลุ่ม นับเป็นจุดบอดสำคัญทำให้นายมูบารักไม่มีโอกาสรับรู้ปัญหาแท้จริงที่เกิดขึ้นเนื่องจากถูกปกปิด ถูกหมกเม็ด ไม่มีการรายงานผ่านสื่อให้ทั่วโลกได้เห็นว่าชีวิตจริงๆ ของผู้ที่ถูกกดขี่ ถูกกดดันและอยู่ใต้อำนาจมืดเป็นเช่นใด
                การบริหารภายใต้กำปั้นเหล็ก ทำให้ชาวบ้านธรรมดา คนจรหมอนหมิ่น นักศาสนา นักธุรกิจ ไม่สามารถพูดออกความเห็นอะไรได้มากนัก โดยเฉพาะเรื่องการเมืองที่ห้ามพูดถึงเป็นอันขาด เช่นเดียวกับการห้ามนำเสนอข่าวชาวอียิปต์หลายร้อยคน ที่ไว้เครายาวสวมชุดโต๊บและหมวกขาวอยู่บนศีรษะ ถูกจับขึ้นรถสีน้ำเงินซึ่งเป็นรถจับผู้ทำผิดกฎหมาย หรือเรื่องของเงินเดือนแสนน้อยนิดของครูสอนศาสนาที่ต้องกระเบียดกระเสียรไม่ต่างอะไรกับคนทั่วไป ตรงข้ามกับภาพเจ้าหน้าที่ระดับสูงใส่สูทยามออกงานสังคม ภาพของผู้นำที่ยืนยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ระหว่างร่วมงานเลี้ยง ฯลฯ
                แต่จุดที่ทำให้นายมูบารักตกม้าตาย ก็คือการพยายามผลักดันลูกชายให้เป็นทายาททางการเมือง กลายเป็นชนวนให้คนวงในเริ่มไม่ไว้ใจ กอปรกับมีการยักยอกผลประโยชน์จากการทำธุรกิจระดับประเทศ หรือการพยายามรวบอำนาจไว้ในมือถึงชั้นยกเลิกผลการเลือกตั้งหากมีพวกที่ไม่ต้องการเข้ามามีบทบาทในสภามากเกินไป แต่ก็ไม่มีใครกล้าพูดอย่างเปิดเผย ทำให้นายมูบารักไม่ทราบว่าภัยได้ก่อตัวอย่างเงียบเหมือนคลื่นใต้น้ำ จนท้ายสุดประชาชนกลุ่มต่างๆ ก็ลุกฮือประท้วงจนสามารถล้มระบอบอำนาจเก่า แล้วพยายามสร้างระบอบใหม่ขึ้นมา ด้วยความหวังว่าผู้นำคนใหม่จะต้องเป็นคนใหม่ ไม่ใช่นักการเมืองหน้าเก่าที่ฉวยโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารต่อไป หลังจากมีการเลือกตั้งระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี โดยมีสภาทหารเป็นผู้รักษาการและควบคุมดูแลความมั่นคงทั้งหมด
                 ผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ปรากฏว่ากลุ่มมุสลิมภราดรภาพ หรืออิควานมุสลีมีน ศัตรูตัวฉกาจของขั้วการเมืองเก่าครองเสียงข้างมาก ส่วนผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกซึ่งมีผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติอย่างเข้มงวดจนมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 13 คน เพื่อคัดผู้สมัครที่มีคะแนนมากที่สุด 2 รายแรกที่จะเข้าชิงดำในรอบ 2
                 ปรากฏว่าผู้ผ่านเข้ารอบ 2 ได้แก่นายมูฮำหมัด มูรซี จากพรรคมุสลิมภราดรภาพซึ่งเป็นพรรคใหม่ และนายอะหมัด ชาฟีก ไม่สังกัดพรรค แต่เป็นคนหน้าเก่าตั้งแต่สมัยนายมูบารัก ทำให้ผู้ประท้วงที่เคยผสานใจกันประท้วงยอมสละชีวิตแลกกับศักราชใหม่ของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประเทศได้เกิดแตกเป็นหลายฝักหลายฝ่ายอีกครั้ง
                 นายมูฮำหมัด มูรซี ที่ทั่วโลกและใครๆ ต่างหวาดกลัวว่าถ้าได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่เนื่องจากสังกัดพรรคอัลอิควานอิสลามมียะห์ หรือพรรคมุสลิมภราดรภาพ ซึ่งถูกปฏิเสธจากโลกตะวันตกโดยเฉพาะยิว โดยพรรคนี้ก่อตั้งที่จังหวัดที่อิสมาอีลียะห์ เมื่อปี 1928 โดย อัชชะฮีด อิมามหะสัน อัลบันนา บุรุษไว้เครายาว หนึ่งในผู้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เเละฟื้นฟูอิสลามที่โดดเด่นที่สุดในยุคนั้น ไม่ว่าเรื่องความไม่เป็นธรรม หรือเรื่องคอรัปชั่น
                 ที่สำคัญ อิควานนั้นถือได้ว่าเป็นศัตรูสำคัญที่สุดของยิว เพราะรู้แผนการของชาวยิวได้ดีทุกจุดและยังรู้จักชาวยิวดีทุกอณู ทำให้ยิวไม่สามารถเดินตามเเผนการของตัวเองได้ ด้วยความเข้มแข็งของพวกอิควานที่ต่อสู้ด้วยความไม่เห็นเเก่ตัวเเละด้วยจิตใจที่เสียสละ แต่ในสมัยของญามัล อับดุลนาซีร หรือประธานาธิบดีนัซเซอร์ ซึ่งแม้จะมาจากกลุ่มอัลอิควาน แต่เมื่อขึ้นมามีอำนาจแล้วก็สั่งจับกุมคุมขังพวกอิควานกว่า 5 หมื่นคน ด้วยเหตุผลว่าเป็นภัยต่อประเทศ
                 นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ พรรคอิควานมุสลีมีนก็กลายเป็นโลโก้ที่น่ากลัวของคนทั่วโลก โดยเฉพาะพวกยิวหรือโลกตะวันตกที่พูดกันต่อๆ ว่า “อิสลาม” เป็นศาสนาที่น่ากลัวไปโดยปริยาย
                 จนมาถึงยุคของมูบารัก พรรคมุสลิมภราดรภาพ ก็ยังคงเป็นสิ่งต้องห้ามและอยู่ในเครือข่าย “พวกผิดกฎหมาย” หรือถูกตราหน้าว่าเป็น “พวกมุสลิมก่อการร้าย” คือพวกที่ก่อความวุ่นวาย สร้างความแตกแยก แต่แท้ที่จริงแล้ว กลุ่มนี้ไม่ได้โหดร้าย ไม่ได้สร้างความแตกแยก ไม่ได้สุดโต่งในเรื่องศาสนา และไม่ได้อยู่กับสังคมโลกไม่ได้ เหมือนอย่างที่ถูกกล่าวหา เว้นแต่การแต่งกายที่คงรูปแบบอิสลาม มีสถานะเป็นอยู่ที่ชัดเจน  มีสมาชิกเครือข่ายหลากหลาย และเข้าสู่สังคมทั่วโลกอย่างกว้างขวาง มีการพัฒนาโดยนำอิสลามมาประยุกต์ใช้กับสังคมสมัยใหม่และเข้าสู่สังคมโดยไม่แบ่งชนชั้นใดๆ    
   
                  ช่างน่าโชคร้ายสำหรับนายมูฮำหมัด มูรซี ที่ขึ้นมาจากพรรคที่ใครๆ ต่างมองในแง่ลบจนต้องแถลงว่าหากได้เป็นประธานาธิบดี ก็จะลาออกจากหัวหน้าพรรคมุสลิมภราดรภาพ ซึ่งยิ่งทำให้คะแนนเสียงวูบลง แต่นายมูฮำหมัด มูรซี ยังคงหวังว่าจะชนะแน่นอน
                  ด้านนายอะหมัด ชาฟิก อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ และอดีตนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลนายมูบารัก เป็นคู่แข่งขึ้นมาแบบ “อูฐมืด” ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนชนิดหักปากกาเซียนนักวิเคราะห์วิจารณ์ ซึ่งไม่เชื่อว่าคนเก่าในสมัยอดีตประธานาธิบดีมูบารักจะก้าวมาไกลถึงขนาดนี้ การขุดคุ้ยข่าว การประท้วงเริ่มมีขึ้นในทุกสถานที่
                  จากเดิมที่เคยร่วมกันต่อสู้เพื่อลบล้างระบบเก่าๆ และคนเก่าๆ แต่ท้ายสุดกลับกลายเป็นว่าต้องยอมรับผลการเลือกตั้งอย่างเงียบๆ หรือนี่อาจจะเป็นเกมการเมืองของนักการเมืองเก่าที่ฝังตัวเงียบรอจังหวะที่จะฟื้นคืนชีพอีกครั้ง
                  ก่อนการเลือกตั้งรอบตัดสินไม่กี่วัน บรรดานายพลในสภาทหารได้ประกาศยุบสภาและควบคุมอำนาจนิติบัญญัติทั้งหมด ทำให้ชาวอียิปต์โดยเฉพาะกลุ่มนักปฏิวัติที่ผ่านมาเริ่มเอะใจคิดว่าคำสั่งนี้มีขึ้นเพื่อตัดสิทธิ์ “ประธานาธิบดี” คนต่อไป เหมือนกับบอกเป็นนัยว่าสภาทหารคงจะรู้เบาะแสเรื่องผลการนับคะแนนเป็นการภายในว่า นายมูฮำหมัด มูรซี คงชนะการเลือกตั้ง เป็นเหตุให้สภาทหารคิดจะยื้ออำนาจไว้ต่อไป ที่สำคัญจะมีอำนาจเหนือกฎหมายโดยเฉพาะการขึ้นมาของประธานาธิบดี ซึ่งคงต้องอยู่ในเงื้อมมือของอำนาจทหารอย่างแน่นอน
                  แต่ถ้านายอะหมัด ชาฟิก เกิดชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ทุกอย่างก็คงไม่มีการเปลี่ยนแปลง และนี่คือสิ่งที่พวกนักปฏิวัติทุกคนต่างลุกฮือกันขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อความกระจ่างและเพื่อทวงสัญญาที่สภาทหารเคยให้ไว้ว่า สภาทหารจะดูแลความปลอดภัยของคนในประเทศและจะคืนอำนาจหลังจากได้ประธานาธิบดีคนใหม่แล้ว แต่ทำไมต้องยุบสภาทั้งๆ ที่ไม่มีปัญหาอะไรให้น่าระแวงใจ และมีขึ้นเพียงไม่กี่วันก่อนหน้าที่จะรู้ผลการเลือกตั้ง
                  ทั้งหมดคือความคิดตรงกันของชาวอียิปต์ ซึ่งทุกครั้งที่เกิดปัญหาของสังคมส่วนรวม ชาวอียิปต์แม้จะต่างพรรค ต่างศาสนา ก็จะมารวมกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อเรียกร้องความถูกต้อง ความเป็นธรรม และเรียกร้องสัญญา นี่คือสิ่งที่ดีของชาวอียิปต์ ลูกหลานฟาโรห์และศาสดาแห่งอียิปต์
                 ฟาโรห์ 2012 จะปกครองประเทศชาติด้วยอุดมการณ์ ด้วยความสามารถของตัวเอง และของสภาได้อย่างไร ในเมื่อทุกอย่างถูกขีดไว้ด้วยกระสุนปืน และคอยติดตามเป็นเงาติดตัวอยู่ตลอดเวลา คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ประชาชนจะยอมอยู่นิ่งเฉย เชื่อได้เลยว่าคงจะมีการประท้วงนองเลือดครั้งใหญ่อีกครั้ง หากสภาทหารยังไม่ยอมคืนอำนาจสู่สามัญชนอย่างที่เคยให้สัญญากันไว้
                 ขณะเดียวกัน หากผลการเลือกตั้งเป็นไปตามที่สภาทหารต้องการ สิ่งที่จะเกิดขึ้นและน่าจับตามองที่สุด คือถ้านายมูฮำหมัด มูรซี ชนะ ก็คงต้องยอมสยบอยู่ใต้กรอบต่างๆ ที่สภาทหารขีดวางไว้ จนเหมือนกับถูก “จูงจมูก” หรือกลายเป็น “หุ่นเชิด” ในเมื่อกำเนิดของพรรคภราดรภาพตอกย้ำภาพลักษณ์และชื่อเสียงไปในทางที่ทุกคนวิตกกังวลกันทั่วโลก สภาทหารจึงต้องแก้เกมนี้โดยเฉพาะ
                 แต่ถ้าหากนายอะหมัด ชาฟิก เป็นผู้ชนะ ทุกอย่างก็คงเข้าที่เข้าทาง เพราะการเมืองระบบเก่ายังดำรงต่อไป แม้นายอะหมัด ชาฟิก จะเป็นคนใหม่ รัฐบาลใหม่ แต่อุดมการณ์การทำงานก็ยังคงไว้ซึ่งแบบเก่า หลายๆคนในประเทศและต่างประเทศก็ยินดีด้วยเพราะไม่ต้องคอยหวั่นวิตกถึงการพัฒนาและการเข้าสู่สังคมโลกได้อย่างกว้างขวาง
                 อียิปต์ เป็นประเทศอิสลามที่ใจกว้างและหลากหลายรสชาติ อียิปต์เป็นประเทศที่อยู่แล้วรู้สึกถึงความปลอดภัย ชาวอียิปต์เป็นคนกันเองถ้าได้สนิทกันจริงๆจะรู้ว่าอียิปต์เป็นชนชาติที่น่าคบหาเป็นที่สุด และสามารถตายแทนกันได้ อาจจะเป็นคนตรงไปตรงมาแต่อียิปต์เป็นคนที่โกรธแล้วหายเร็ว และไม่ชอบสร้างศัตรูระยะยาว นี่คือสิ่งที่ดีของชาวอียิปต์ ไม่ว่าใครจะชนะ ผมก็ยืนยันว่า ผมรักอียิปต์ตลอดไป...
                  ... "ขณะที่ปั่นต้นฉบับเรื่องนี้ ผมรู้สึกคิดถึงและเป็นห่วงประเทศไทยเรา เพราะประเทศเราก็ไม่ได้สงบสุข มีการขัดแย้งทางการเมือง การแบ่งแยกสี และมีคราบน้ำตาที่ต้องสูญเสียครอบครัวและคนที่รักไป แต่ผมรู้สึกอุ่นใจที่ประเทศเรายังมี "พ่อหลวง" เป็นที่พักใจของพวกเราทุกคน ซึ่งชาวอียิปต์ไม่มีใครให้อุ่นใจได้เท่ากับประเทศเรา แล้วทำไมเราคนไทยถึงไม่เชื่อฟังคำที่ "พ่อหลวง" สั่งสอน และแบบอย่างที่ดีๆ นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดแล้วของคนไทยเรา
.......................................
(ฟาโรห์ 2012 ตัวจริงหรือแค่หุ่นเชิด ในอุ้งมือทหาร : เปิดโลกวันอาทิตย์ : โดย...ดลหมาน ณ ไคโร)
http://www.komchadluek.net/detail/20120624/133531/%E0%B8%9F%E0%B8%B2%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%AB%E0%B9%8C2012%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%94.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น